วันจันทร์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2561
อาทิตย์ อุไรรัตน์
อาทิตย์ อุไรรัตน์ กับมุมมองประเทศอย่างเข้าถึง
จุดแข็งของประเทศไทยที่มองเห็น ผมมองว่ามีอยู่ 4 ด้านที่เป็นจุดที่มหาวิทยาลัยรังสิตมุ่งไปคือ
1. ด้านเกษตร วันนี้ไม่มีใครสนใจ กลายเป็นเรื่องที่ตกต่ำในประเทศไทย คนทำก็ยากจน แต่ผมคิดว่ามันเป็นเพชรที่ไม่ได้เจียระไน เป็นจุดแข็งที่เรามองไม่เห็น เราอย่าไปอยากเป็นแบบคนอื่นเขา
เราเป็นไม่ได้หรอกประเทศอุตสาหกรรม จะเป็นประเทศอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ เราก็คงเป็นไม่ได้ เพราะเราสู้เขาไม่ได้ แต่เกษตรเราเป็นได้ แต่เราก็ไม่เห็น ผมจึงตั้งวิทยาลัยนวัตกรรมเกษตร เทคโนโลยีชีวภาพ และอาหารขึ้นมา
2. การแพทย์ 3. ท่องเที่ยว และ 4. ครีเอทีฟอาร์ต ฝีมือด้านศิลปะ ตั้งแต่สถาปัตยกรรม ดีไซน์ การออกแบบ นิเทศศาสตร์ ดนตรี ดังนั้น มหาวิทยาลัยจึงมุ่งไปทาง 4 ด้านนี้อย่างเข้มแข็ง
การท่องเที่ยวก็ต้องตีความให้กว้าง ไม่ใช่แค่พาไปเที่ยวหรือการโรงแรมเท่านั้น แต่การท่องเที่ยวเริ่มตั้งแต่การเดินทางมา นักบิน ซ่อมเครื่องบิน งานบริการบนเครื่องบิน หรือการรถไฟ เราก็เปิดหลักสูตรรถไฟในคณะวิศวกรรม
ขณะที่หลักสูตรการบิน เรามีนักบิน ซ่อมบำรุงอากาศยาน เรามีธุรกิจการบิน เรามี Chef School ไทย Chef School นานาชาติร่วมกับฝรั่งเศส คือมันมีทางทำได้เยอะแยะ อย่าไปงอมืองอเท้า
ประเทศไทยเป็นประเทศที่สบายมาตลอด อุดมสมบูรณ์ ในน้ำมีปลาในนามีข้าว ชีวิตไม่ต้องแก่งแย่งกัน อยู่สบายมาเรื่อยๆ เรียงๆ เราไม่ได้เป็นอย่างญี่ปุ่น อย่างสิงคโปร์ อย่างฮ่องกง เกาหลี หรือเวียดนาม ประวัติชีวิตของพวกเขาเหล่านี้ยากลำบากมานาน แต่ก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่ง
แต่เมื่อวิวัฒนาการผ่านระยะมา เราควรจะไปในทิศทางที่ดีขึ้น ไม่ต้องเร็วเหมือนประเทศที่ว่ามา แต่บังเอิญเราก็ถูกนำด้วยสภาพการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ไปในทิศทางซึ่งมันมาทะเลาะเบาะแว้งกันในเรื่องไร้สาระ ไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย
คุณภาพอย่างนี้ที่เราอยากให้เกิดขึ้น แล้วต้องกว้าง ต้องรวม ไม่ใช่ใครเป็นนักบัญชีแล้วทำแต่บัญชี แต่อาจจะต้องรู้ชีวิตทุกอย่าง ก็ยังพยายามทำและผลักดันอยู่
อย่างเช่นวันนี้ บุคลากรทางการแพทย์ขาดแคลน ก็พยายามให้เพียงพอ อย่างพยาบาลขาดแคลนมาก ทั่วโลกก็ขาดแคลนด้วย แต่บางประเทศอย่างฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เขาบอกว่าเขาผลิตเพื่อการส่งออก ก็เป็นโอกาสเขา
แต่เราไม่ได้คิดเลย คิดแต่เพียงว่าไม่มีตำแหน่ง ไม่มีอัตราเงินเดือน ฉะนั้น ไม่ผลิต ทั้งๆ ที่เรามีความสามารถที่จะผลิตได้ ก็ไม่ผลิต พอก็ไม่พอ ขาดก็ขาด ประชาชนก็ได้รับความเดือดร้อน
ล่าสุดเราก็ร่วมผลิตกับทางโรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลเลิดสิน โรงพยาบาลนพรัตน์ ประเด็นคือมันต้องทำ มันมองเห็นอยู่แล้วว่าควรจะทำ แต่เรามัวทำอะไรกันอยู่ก็ไม่รู้
อย่างหลักสูตรนักบินซึ่งเป็นแห่งแรกที่เราผลิตนักบิน แล้วไม่ใช่แค่ประเทศไทย ประเทศอื่นก็ต้องการ
มันก็ต้องทำให้เห็น คุยกันเรื่องแนวทาง ถามว่าจะผลิตนักบิน ถ้าหากทางหน่วยควบคุมหรือกระทรวงศึกษาบอกว่ามีสนามบินหรือเปล่า มีเครื่องบินหรือเปล่า แล้วจะเปิดได้ยังไง ก็เราไม่มี แต่เราเปิดได้ ร่วมมือกันได้ ทำไมถึงร่วมมือไม่ได้ล่ะ
ถามว่าดีไหม ก็ดี แต่เขาไม่คิดไง เขาคิดว่าจะเปิดโรงเรียนแพทย์ต้องมีโรงพยาบาลเป็นของตัวเอง ถ้าอย่างนั้นก็ไม่ต้องมีใครเปิด อยู่ไปอย่างนี้ มันก็ต้องเปิดแนวคิดกว้างบ้าง เปิดขอบฟ้าบ้าง ไปถือเขาถือเราทำไม เราทำเพื่อประเทศ ไม่ใช่เพื่อเรา
บางคนบอกว่าหมอคนนี้ไม่ใช่ปริญญาเอก ต้องปริญญาเอกถึงจะมาเป็นอาจารย์ เราก็บอกว่า หมอที่ได้บอร์ดเทียบเท่าปริญญาเอก เขาถึงยอมรับ อาจารย์การบินไม่ได้ปริญญาเอก ก็บอกว่า มันมีไหมล่ะในโลกนี้ Ph.D. ทางด้านการบิน แต่เรามีพลอากาศเอก ใช้ได้ไหมล่ะ
งานวิจัยอย่าไปคิดแต่งานวิจัยขึ้นหิ้งเป็นเล่มๆ หมอเวลาเขาปฏิบัติเขาผ่าตัดมากขึ้นๆ เป็นงานวิจัยภาคปฏิบัติจริงๆ ผ่าตัดดีขึ้น รักษาคนให้หายมากขึ้น นั่นล่ะคืองานวิจัยที่มีคุณค่าที่แท้จริง เราต้องให้ความคิดแบบนี้กับเขา
บางทีประเทศเรามีอะไรเยอะแยะ เราไม่ค่อยเห็นคุณค่า ทำให้ไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควร ต้องมีปริญญาเท่านั้น คนไทยยึดติดรูปแบบ เจ้าขุนมูลนาย ผมถึงบอกว่าการศึกษาไทยต้องไม่เจ้าขุนมูลนาย ไม่ยึดติดรูปแบบ แบ่งชั้นวรรณะ ดูถูกเหยียดหยาม แต่วันนี้มีความคิดแบบกระพี้ๆ ไม่ดูแก่นของเรื่อง
หมายเหตุ : หนังสือ อาทิตย์ อุไรรัตน์ “แกะดำโลกสวย”
https://thaipublica.org/2016/06/arthit-ourairat-12-6-2559/
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น