ท่านเป็นอดีตครูสอนคณิตศาสตร์และผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ ประสานมิตร
และเคยเป็นอดีตติวเตอร์ชื่อดังที่มีคนมาจองกวดวิชามากถึงขนาดได้เงิน 20 ล้านในวันเดียว!! ไปรู้จักครูท่านนี้กันซักหน่อยครับ
ท่านเป็นคนนครปฐมครับ เรียนจบวิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา และสอบติดที่นั่นเป็นครั้งแรก โดยไม่เคยมาสอบแข่งขันมาก่อน คนสอบสมัยนั้นเป็นหลาย ๆ พัน
เมื่อได้ฝึกสอนเด็ก ๆ ท่านก็เริ่มรักอาชีพครู ไปเรียนต่อ ปกศ.สูง เทียบเท่ากับอนุปริญญา ผลการเรียนก็พื้น ๆ
จนกระทั่งได้เรียนคณิตศาสตร์กับอาจารย์ท่านหนึ่ง สอนแคลคูลัส ทำให้ท่านเข้าใจเรื่องยาก ๆ ได้อย่างง่ายดาย จากนั้นมาท่านก็ชอบวิชาคณิตศาสตร์ รู้เรื่องแคลคูลัสอย่างแตกฉาน
จากนั้นท่านก็สอบเข้าเรียนต่อปริญญาตรี กศบ.(การศึกษาบัณฑิต) อีก 2 ปี ที่ มศว(มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ) ตอนนั้นมีที่เดียว ที่เปิดคณะศึกษาศาสตร์เป็นที่แรก
สมัยก่อนใครสอบเข้าที่นั่นได้ ก็สุดยอดของประเทศ เลยทีเดียว ท่านเลือกเรียนคณิตศาสตร์ เป็นวิชาเอก
พอเรียนก็เริ่มต้นเป็นครูที่โรงเรียนสาธิต มศว ตั้งแต่ปี 2512 จนเกษียณ ทำงานเป็นครูมา 40 ปี อยู่ที่โรงเรียนนี้มาตลอดชีวิตราชการ
ท่านเริ่มอาชีพติวเตอร์กวดวิชา จากการที่ ตอนเย็น ๆ ท่านจะสอนนักเรียนที่เรียนไม่ทัน สอนฟรี พอหมดเดือนเด็กนักเรียนก็เอาของมาให้ มาขอบคุณท่าน
วันดีคืนดีมีอาจารย์คนอื่นมาชวนไปสอนข้างนอกเพราะเด็กมาเรียนเยอะขึ้น ไม่ใช่แค่เด็กในโรงเรียน จนวันนึงผู้ปกครองคนนึงให้ไปสอนลูกเขาที่แถวราชดำเนิน ตึกของเขาชั้นล่างเป็นติวเคมี เขาก็ชวนให้มาติวเลขชั้นบน
พอติวไปเรื่อยๆ ท่านก็รู้สึกว่าตัวเองเก่ง สอนเด็กคนนั้น ก็สอบได้ที่ 1 คนนี้ก็ได้ที่ 1 คนพูดไปพูดมาจนกลายเป็นที่ 1
ท่านสอนมาแล้วทุกโรงเรียน เป็นอาจารย์พิเศษ ร.ร.เตรียมฯ สาธิตจุฬาฯ ราชินี, เซนต์โยฯ สวนกุหลาบฯ, มาแตร์, อัสสัมชัญฯ ตั้งแต่โรงเรียนในเมืองไปจนโรงเรียนไกลๆ บ้านนอก ไปสอนหมดร้อย ๆ โรงเรียนมาจองให้ไปสอน
สอนกวดวิชา จนชื่อเสียงโด่งดัง มีคนมาชวนไปทำรายการทีวี ผมทำรายการสอนทางทีวี ช่อง 3, 5 ,7, 9, 11 ทุกช่อง ทำรายการตอบปัญหาคณิตศาสตร์ด้วยสอนเตรียมเอนทรานซ์
พอทำตอนนั้นก็เริ่มดังมากขึ้น ๆ คนมาสมัครเรียนกวดวิชาเยอะมากจนต้องเอาแฟนมาเก็บเงิน จ่ายล่วงหน้า 1 ปี แล้วอีกปีค่อยมาเรียนนะ สอนเดือนละ 1,000 จ่ายล่วงหน้า 10,000 บาทต่อหัวต่อคน มีคนมาเรียน 2,000 คน ได้ค่าสอนล่วงหน้าตั้ง 20 ล้านบาท
สอนตั้งแต่ 7 โมงเช้าถึง 2 ทุ่ม ถ้าวันธรรมดาก็สอนตั้งแต่ 5 โมงถึง 1 ทุ่ม สอนชั้น 3 แล้วต่อวิดีโอมาชั้น 2 ชั้น 1 จนต่อมาขยายไปสอนอีก 2 สาขา จะมาเรียนต้องจองล่วงหน้าก่อน 6 เดือน เป็นอย่างน้อย
ตอนที่ท่านไปเปิดติวเตอร์ที่ฝั่งธนฯ มีเด็กเรียนเยอะมาก พอได้เงินมาเยอะ ไม่รู้ทำไง ตอนกลับบ้านนั่งรถมาที่ห้างเซ็นทรัล ข้างล่างมีโชว์รูมเบนซ์ ท่านก็เดินดูแล้วก็บอกคนขาย “เอาคันนี้” เอาเงินที่เพิ่งเก็บได้ไปมัดจำ ตอนนั้นรถ 3-4 ล้าน ท่านมัดจำคนขายไป 1 ล้านกว่า
ช่วงหนึ่งของบทสัมภาษณ์ มีคำถามเด็ดมาก คนถาม ๆ ว่า ...
“โทษนะคะ ตอนนั้นจิตวิญญาณความเป็นครูหายไปไหมคะ ?”
อาจารย์พูลศักดิ์ ตอบว่า ...
“ไม่ถึงขนาดนั้น แต่มาสะดุดใจตอนปี พ.ศ. 2531 ตอนนั้น อ.อารี สัณหฉวี อาจารย์ใหญ่ ร.ร.สาธิตเชิญ Professor Hotchkis, G.D. จากมหาวิทยาลัย Macquarie ประเทศออสเตรเลียมาเลกเซอร์เรื่องการสอนแบบ mastery learning ให้พวกครูสาธิต
ตอนนั้นผมอยากสอนคณิตศาสตร์สำหรับเด็กอัฉริยะ อ.อารีรู้เรื่องนี้เลยชวนผมมานั่งฟังแต่ผมหยิ่ง ฝรั่งจะมาสอนอะไร วิธีสอนของเขาจะมาสู้อะไรเรา
ที่ไหนได้ สิ่งที่เขาสอนทำให้เราเห็นว่า ไอ้ที่เราสอนกวดวิชา สรุปให้เด็กจำเพื่อนำไปสอบ เราควรจะสอนไหม หรือควรจสอนความรู้ที่ติดตัวเด็กไป
สอนกวดวิชาเหมือนใส่ชุดลิเก เป็นเทพ เป็นเจ้า แต่พอเล่นเสร็จ เราถอดชุดออกใช่ไหม ถอดออกมันก็ไม่ใช่เทพแล้ว
เนี่ยเราสอนเด็กเหมือนเล่นลิเก คนนี้เก่ง รำสวย ชฎาสวย แต่มันใช้กับชีวิตจริงตรงไหน ความรู้ที่เราสอนพอสอบเสร็จทิ้งหมดนะ ผมเรียกคณิตศาสตร์ลิเก วิทยา-ศาสตร์ลิเก พอแสดงเสร็จ คนดูกลับ จบ
วันรุ่งขึ้นเก็บเงินคนดูเข้ามาดูใหม่ ถ้าคุณเป็นพระเอกในลิเกคุณต้องเป็นพระเอกในชีวิตจริงได้ด้วยสิ แต่ชีวิตจริงไม่ได้เอาลิเกมาใช้เลย ”
ถามต่อ “อาจารย์จากออสเตรเลียสอนเรื่องอะไรคะ ?”
“ เขาสอนเรื่องสมการ ตอนนั้นเราคิดว่า “สมการจะมาเก่งอะไรกว่าเรา เราสอนมาแล้วทุกโรงเรียน” ...
ปรากฏว่า เขาสอนสมการสำหรับเด็กปัญญาอ่อน!! สุด ๆ เลย เขาใช้การสอนแบบ precision teaching การสอนแบบตรงเผง มันแก้พฤติกรรมของคนที่ไม่รู้จากจุดเล็กๆ
เปรียบเทียบสมมติจะแก้ใบหน้าจะแก้ที่หูก่อน ที่จุดเล็กๆ ของหู อาศัยการแก้ที่ไม่ใช่บอกให้เปลี่ยนแต่ใช้การสังเกต ให้ความรู้เกิดมาจากในตัวเอง
เช่น ผมจะสอนว่าแก้วน้ำเป็นอย่างนี้ ปกติเราก็บอกหรือเขียนรูปแล้วบอกว่าแก้วน้ำ แต่ เขาบอกว่า คนจะรับรู้ว่านี่คือแก้วน้ำต้องเกิดจากการสังเกตุแล้วรับรู้ว่านี่คือแก้วน้ำ
เขาเอาแก้วน้ำแบบต่างๆ มาให้ดู แล้วถามนักเรียนว่าใช่หรือไม่ใช่ อันนี้ใช่แก้วอันนี้ไม่ใช่ ให้เด็กรู้จักจำแนกจากการสังเกตคุณลักษณะแล้วรวมความรู้ขึ้นมาเอง เช่น ส้อมอาจจะมี 2 ขา 3 ขา ก็เรียกว่า ส้อมไม่ใช่อันนี้อันเดียวที่เรียกว่าส้อม
เขาให้ดู 2-3 นาทีว่าอันนี้ใช่ ไม่ใช่ จากนั้นเขาให้นักเรียนเลือกเองว่ามีอันไหนที่ใช่ แต่ยังไม่บอกว่าเราจะเรียนเรื่องอะไรนะ
แล้วพอคัดมาทั้งหมดที่ใช่แล้วเขาค่อยบอกว่าที่เราเรียนนี้ใช้เวลา 15 นาที เด็กทุกคนในห้องรู้เท่าเทียมกันหมดเลย เด็กเก่งใช้เวลานิดเดียว เด็กอ่อนใช้เวลานานหน่อย แต่ทุกคนรู้เท่าเทียมกัน
ตอนนั้นเขาสอนสมการครั้งแรกเขียนสมการ 20 อันแล้วแจกชีทให้นักเรียนลองกาสิอันไหนที่ใช่ แล้วพอเฉลย ให้เพื่อนแลกกันดู นักเรียนรู้หรือยัง เพื่อนทำถูกไหม
ไม่มีโง่ฉลาด มีแต่หลงลืม ไม่มีเอ็งเก่งมาก่อน ฉันโง่ แต่สอนแบบนี้มี่แต่ใช่ ไม่ใช่ผิด 2-30 อัน อาจจะหลงหรือลืม มันเป็นเรื่องธรรมชาติ
ไม่ใช่เรื่องสอน ไม่ใช่เรื่องท่องจำ ว่าครูสอนเมื่อวานแล้วทำไมไม่รู้ ต่อไปสอนเรื่องตัวแปร เขาก็วง x นี่คือตัวแปร ตัวนั้นตัวนี้คือตัวแปร
ผมเรียนจากเขาแล้วผมทรุดเลย คุณสุดยอด เราลืมเรื่อง “ความทั่วถึง” ไอ้ที่เราสอนเด็กติดแพทย์ ติดวิศวะ เราคิดว่าเราเก่ง โถ..จะไม่ติดได้ยังไง เราสอนตั้งปีกว่าแต่เด็กที่เราทิ้งไปคือเด็กที่มาเรียนกับเราแล้วไม่รู้เรื่อง
เรียนกับ อ.พูลศักดิ์ยังไม่รู้เรื่องก็ทิ้งวิชาคณิตศาสตร์ไปเลย แต่จริงแๆ คณิตศาสตร์ที่ต้องใช้กับชีวิตประจำวันมันควรจะแปะติดตัวเราไป ไม่ใช่คณิตศาสตร์ลิเก
แล้วพอเจอ professor เรารู้เลยว่าที่ผ่านมาเวลาเราสอนเราพูดวิธีเดียว เราคิดว่าพูดแค่นี้นักเรียนต้องรู้ พอนักเรียนไม่รู้เราบอกว่า “คนนี้ต้องมีอะไรผิดปกติ”
แต่จริง ๆ แล้ว “เราเองผิดปกติ” เหมือนคนเป็นหมอ คนไข้มารักษาไม่หาย เราโทษคนไข้ไหม ไม่ เพราะจริงๆ เราผิด
เรามีหน้าที่มองนักเรียนแต่ละคนในจุดเล็กๆ คนเก่งทำได้ ใช้เวลาสั้นแล้วมาดูแลเพื่อน คนอ่อนใช้เวลาเรียนมากหน่อย ต้องใช้การสังเกต สังเคราะห์แล้วบอกว่าใช่ ไม่ใช่มันสร้างความคิดขึ้นมาด้วยตนเอง
ในจิตมันต้องรวมอะไรขึ้นมาสักอย่างแล้วมันรู้ดัวยตัวเองเลย ให้ไปหยิบแก้วน้ำ ถึงแม้จะเขียนคำนี้ไม่ถูก แต่ให้ไปหยิบแก้ว หยิบถูกพอบอกสมการ รู้เลยอันนี้สมการ สื่อสารเป็นขั้นเป็นตอนแล้วใช้เวลาสอนไม่นานน้อยกว่าที่เราพูดอีก
ถือคติคนเก่งใช้เวลาน้อยคนอ่อนใช้เวลามากหน่อย เพราะฉะนั้นเวลาทำแบบฝึกหัด สมมติโจทย์มี 30 ข้อ คนเก่งให้ทำไปเลย 30 ข้อ คนอ่อนทำได้ 5 ข้อ พอแล้ว
นักเรียนทุกคนรู้เท่าเทียมกัน เขาเรียก “เต็มที่” และ “ทั่วถึง ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ไม่มีในระบบการศึกษาไทย
การได้เข้าไปนั่งเรียนคือ "“เสมอภาค” แต่ “เท่าเทียม” เราไม่ได้พูดถึง จะทำให้ทัดเทียมให้นักเรียนทุกคนรู้ อยู่ที่ “ครู” ตอนProfessor Hotchkis สอนเสร็จ ผมไปไหว้เขาเลย บอกว่าประทับใจมาก ขอบคุณมาก
จากนั้นผมแจกตำราเลย แจกให้ไปเยอะ ใครอยากได้เอาไปเลย ตอนนั้นเรารู้วิธีทำให้ทุกคนที่ไม่รู้คณิตศาสตร์รู้ได้ คนที่ไม่ชอบคณิตศาสตร์ให้ชอบได้ ก็จะเน้นในเรื่องนี้ และคณิตศาสตร์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่เรียนเพื่อไปใส่ชฎาว่าฉันเก่งที่สุด
ตั้งแต่ตอน professor มา ความคิดเราก็เริ่มเปลี่ยนแต่ยังไม่เลิกสอนกวดวิชาเพียงแต่เพิ่มคอร์สสำหรับเรียนขั้นพื้นฐานจนหลายปีต่อมาผมป่วย กระดูกสันหลังข้อที่ 3 ทับเส้นประสาทต้องผ่าตัด
พอผ่าแล้วเดินไม่ได้ต้องนั่งรถเข็นไปแล้วก็นั่งสอน ต้องไปสอนเพราะเขาจ่ายเงินมาแล้ว ผมทรมานมาก เป็นทุกข์มาก ผมตัดสินใจเลิกสอน เอาเงินไปคืนหมด ขายตึกเลย
ผมมีความรู้สึกมันไม่ใช่เป้าหมายในชีวิต เราทำให้เด็กดีขึ้นเป็นบุญของเรา แต่อีกส่วนหนึ่งเราทำให้เขาหลงตัวเองหรือเปล่า
เราทำให้เด็กได้เป็นนักกีฬาไปแข่งโอลิมปิก แต่เราไม่ทำให้คนส่วนใหญ่มีสุขภาพดี
เราน่าจะเอาองค์ความรู้ไปสอนเด็กส่วนใหญ่ที่ผ่านมาติวเด็ก
อาจารย์พูลศักดิ์ ได้เรียนรู้ว่าอะไรที่สำคัญกับชีวิต ตั้งแต่ตอนที่professor บอกว่าเขาทำวิจัย 10 ปี เรื่องสอนเด็กออทิสติกให้เรียนแคลลูลัสได้
แต่เราสอนเด็กที่เก่งอยู่แล้วให้สอบได้ ไม่ได้ช่วยคนไม่รู้ให้รู้ เราคิดว่า professor เป็นเทพหรือเนี่ย เปล่า เขาไม่ใช่เทพ แต่เป็นกระบวนการค่อย ๆ เปลี่ยนทีละพฤติกรรม คล้ายๆ เวลาถ่ายทำ stop motion ถ่ายทำดินน้ำมันค่อยๆ เคลื่อนทีละนิดๆ แต่สุดท้ายกลายเป็นนกบินได้
ผมเลิกเป็นติวเตอร์แล้วมาเน้นเรื่อง “เต็มที่และทั่วถึง” ครูสอนทั่วถึงไหม ทิ้งคนไม่รู้ไว้ข้างหลังหรือเปล่า คนไม่รู้ทำยังไง ผมกระจายความคิดและวิธีการนี้กับเพื่อนครูทุกคน ครูต้องการกระบวนการสอน
เช่น E Learning เพราะเรียนเสริมในเวลาไหนที่ไหนก็ได้ สถานการณ์ไหนก็ได้ ใส่หมวกสีแดงแล้วจะเรียนรู้เรื่องก็ใส่เลย ไม่ต้องใส่ชุดนักเรียน หมอต้องไม่ทิ้งคนไข้ให้ตาย อย่าทิ้งคนว่ายน้ำไม่เป็นให้จมน้ำ
ครูที่ผมศรัทธาคือครูสอนว่ายน้ำ ไม่มีเด็กคนไหนว่ายน้ำไม่เป็น คนเก่งไปเป็นนักกีฬา คนเก่งน้อยสอนคนอื่น คนอ่อนเกาะเบาะตีขาว่ายตามเขาไปแล้วค่อยๆ เรียนจนว่ายได้ทุกคน การสอนว่ายน้ำเป็นการสอนในอุดมคติ ที่ทำได้ก็เพราะนักเรียนน้อยฉะนั้นจึงทั่วถึงและเต็มที่… “
วิทยากรอย่างผมได้อ่านบทสัมภาษณ์นี้แล้วได้แง่คิด สะกิดใจ จากชีวิตครูอย่างอาจารย์พูลศักดิ์มากมาย หลายประเด็น ... โดยเฉพาะเรื่องการสอน คุณค่า และความหมายของชีวิตครู
ขอบคุณคู่สร้างคู่สม ที่มีเรื่องราวดี ๆ บทเรียนเด่น ๆ มาให้อ่านเป็นประจำ จริง ๆ บทสัมภาษณ์ยังไม่หมดแค่นี้ นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่ง ใครสนใจ ไปหามาอ่านต่อนะครับ
ตอนนี้อาจารย์พูลศักดิ์เกษียณอายุราชการแล้ว และมาเป็นที่ปรึกษาให้ “โครงการโทรทัศน์ครู” ของสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา หรือThai teachers.tv
....ทุกวันนี้ท่านใช้ชีวิตอย่างสมถะ ขับรถธรรมดา บ้านที่มีความอบอุ่น และยังคงไฟแรงทำงานเพื่อพัฒนาการศึกษาบ้านเราในการเป็นที่ปรึกษาของ ”โทรทัศน์ครุ” เพื่อให้ความฝันที่ว่า “ครูสอนนักเรียนทุกคนอย่างทั่วถึงและเต็มที่ ไม่ทิ้งเด็กไม่รู้ไว้เบื้องหลัง” เป็นจริงให้ได้